ระบบย่อยอาหารของมนุษย์
ทางเดินอาหาร (digestive tract) ประกอบด้วย ช่องปาก (oral cavity), คอหอย (pharynx) ,หลอดอาหาร (esophagus), กระเพาะอาหาร (stomach), ลำไส้เล็ก (small intestine), ลำไส้ไหญ่ (large intestine) ,ไส้ตรง(rectum) และทวารหนัก (anus) ตามลำดับ
ส่วนอวัยวะที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหาร ได้แก่ ต่อมน้ำลาย (salivary gland), ตับ (liver), ถุงน้ำดี (gall bladder) และตับอ่อน (pancreas) โดยหน้าที่ในระบบย่อยอาหารแบ่งได้ 2 หน้าที่หลัก คือ
1. การบดเคี้ยวและการกลืน (chewing and swallowing) เป็นการย่อยเชิงกล การเคี้ยวอาศัยการทำงานของพันในช่องปาก ทำให้อาหารมีขนาดเล็กลง เพื่อให้ง่ายต่อการกลืน
2. การย่อยและการดูดซึมอาหาร (digestion and absorption) เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นต่อเนื่องกัน แบ่งการย่อยเป็น 2 แบบ คือ การย่อยเชิงกล เช่น การบดเคี้ยวและการบีบคลุกเคล้า ส่วนการย่อยเชิงเคมีต้องอาศัยเอนไซม์ในการย่อย เช่น เอนไซม์จากต่อมน้ำลาย และเอนไซม์จากกระเพาะอาหาร เป็นต้น
กล้ามเนื้อทางเดินอาหารเกือบทั้งหมดเป็นกล้ามเนื้อเรียบ (ยกเว้นส่วนต้นของหลอดอาหาร และส่วนทวารหนักที่เป็นกล้ามเนื้อลาย) โดยส่วนที่เป็นกล้ามเนื้อเรียบจะอยู่นอกเหนืออำนาจจิตใจ (involuntary) ซึ่งกล้ามเนื้อเรียบในทางเดินอาหารจะมีการหดตัวได้ 2 แบบตามหน้าที่ คือ การหดตัวแบบ peristalsis เพื่อบีบไล่อาหารไปยังส่วนปลาย และการหดตัวแบบ segmentation เพื่อคลุกเคล้าอาหารกับน้ำย่อย
ผนังทางเดินอาหารที่มีลักษณะเป็นท่อ เริ่มตั้งแต่หลอดอาหารจนถึงทวารหนัก จะมีโครงสร้างทาง จุลกายวิภาคศาสตร์แต่ละบริเวณแตกต่างกัน แต่สิ่งที่มีเหมือนกันคือจำนวนชั้นต่าง ๆ สรุปได้ดังนี้
1. Mucosa เป็นชันในสุดของทางเดินอาหาร ประกอบด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็ก ๆ และเซลล์เยื่อบุผิว
2. Submucosa เป็นชั้นใต้ mucosa ส่วนใหญ่เป็นเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน
3. Muscularis เป็นชั้นของกล้ามเนื้อ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น 2 ชั้น คือ ชั้นในเป็นกล้ามเนื้อวง (circular muscle) และชั้นนอกเป็นกล้ามเนื้อตามยาว (longitudinal muscle) ยกเว้นในกระเพาะอาหารจะมีกล้ามเนื้อ 3 ชั้น โดยจะมีกล้ามเนื้อแนวทแยง (oblique muscle) เพิ่มมาบริเวณชั้นในสุด และเนื่องจาก muscularis เป็นชั้นของกล้ามเนื้อ จึงมีกลุ่มเซลล์ประสาทแทรกเข้ามาด้วย
4. Serosa เป็นชั้นนอกสุด มีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันแบบหลวม ซึ่งมีหลอดเลือดและเส้นประสาทแทรกเข้ามา
ในกระเพาะอาหารน้ำย่อยจะสร้างจากเซลล์เยื่อบุของชั้น mucosa ส่วนในลำไส้เล็กจะสร้างเอนไซม์ต่าง ๆ ไว้ที่เยื่อบุ เพื่อย่อยสารอาหารของชั้น mucosa เช่นกัน อีกทั้งชั้นนี้ยังเกี่ยวข้องกับการดูดซึมสารอาหารของสำไส้เล็ก เพราะเป็นส่วนที่ยื่นเข้ามาภายในโพรงลำไส้ จึงช่วยเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมได้