ปาก(mouth)
ปาก (mouth) เป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้ในการรับประทานอาหารและออกเสียงพูด ดังนั้นจึงต้องมีโครงสร้างภายในที่ช่วยในการทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแบ่งอวัยวะภายในช่องปาก(oral cavity) ได้แก่ ฟัน เหงือก กระดูกเบ้าฟัน เพดานแข็ง เพดานอ่อน ต่อมน้ำลาย ข้อต่อขากรรไกร และลิ้น
ฟัน (Teeth) มีหน้าที่ในการตัด ฉีก และบดอาหาร ซึ่งฟันแท้แบ่งออกเป็น 4 ชนิดตามลักษณะรูปร่างและหน้าที่ คือ ฟันตัด(Incisor) ฟันฉีก(Canine) ฟันกรามหน้า(Premolar) ฟันกรามหลัง(Molar) ฟันของคนเรามี 2 ชุด คือ
1. ฟันน้ำนม (Temporary teeth) เป็นฟันชุดแรก มี 20 ซี่ จะเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เริ่มหักเมื่ออายุประมาณ 6 ขวบ สูตรฟันน้ำนมของคนเฉพาะ1/4 ของปาก คือ I(Incisor) : C(Canine) : P(Premolar) : M(Molar) คือ 2 : 1 : 0 : 2
2. ฟันแท้ (Permanent teeth) เป็นฟันชุดที่ 2 มีจำนวน 32 ซี่ จะงอกครบเมื่ออายุประมาณ 13 ปี
สูตรฟันแท้ของคนเฉพาะ1/4 ของปาก คือ I : C : P : M คือ 2 : 1 : 2 : 3
โครงสร้างของฟันประกอบด้วย ตัวฟัน(Crown) จะมีสารเคลือบฟัน(Enamel) เป็นสารที่มีความแข็งเนื้อแน่นมาหุ้มอยู่ช่วยไม่ให้ฟันผุง่าย ซึ่งถัดจากสารเคลือบฟันเข้าไปก็จะเป็นเนื้อฟัน(Dentine) ต่อจากเนื้อฟันจะเป็นโพรงฟัน(Pulp cavity) เป็นบริเวณที่มีหลอดเลือดและเส้นประสาทฟัน ส่วนที่เป็นลักษณะเรียวต่อจากคอฟันมีลักษณะคล้ายขาเรียกว่ารากฟัน(Root) รากฟันฝังอยู่ในช่องกระดูกขากรรไกรมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันและสารซีเมนตัม(Cementum) หุ้มอยู่
ต่อมน้ำลาย (Salivary gland) สร้างน้ำลาย(Saliva) ซึ่งประกอบด้วย เอนไซม์อะไมเลส น้ำ และเมือก ประกอบด้วยต่อมน้ำลายมี 3 คู่ คือ ต่อมน้ำลายใต้ลิ้น(Sublingual gland) ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร(Submaxillary gland หรือ Submandibular gland) และต่อมน้ำลายข้างกกหู(Parotid gland)
การหลั่งน้ำลาย (Salivation) การหลั่งน้ำลายออกมาวันละ 1,000 - 1,500 ลูกบาศก์เซนติเมตร จะเกิดเมื่อระบบประสาทพาราซิมพาเธติกถูกกระตุ้น เช่น การมองเห็นอาหาร กลิ่นอาหาร รสอาหาร หรือความนึกคิด ทำให้หลั่งน้ำลายส่วนใส ๆ ออกมา น้ำลายชนิดใสเป็นน้ำลายที่มีน้ำย่อยอะไมเลสอยู่ด้วย ทำให้โมเลกุลของแป้งแตกตัวเป็นน้ำตาลมอลโทส ส่วนน้ำลายชนิดเหนียวจะมีเมือก(Mucus) อยู่มากทำหน้าที่เป็นตัวหล่อลื่นอาหาร เพื่อสะดวกในการกลืน และการผ่านอาหารลงสู่กระเพาะอาหาร
ลิ้น (Tongue) เป็นกล้ามเนื้อโครงร่างมีเยื่อปกคลุม ลิ้นทำหน้าที่บอกตำแหน่งอาหาร กลืนอาหารและเปล่งเสียง และมีหน่วยรับรู้สารเคมี (Chemoreceptor)ในการรับรสอาหาร และคลุกเคล้าอาหารให้เป็นก้อน (Bolus) แล้วช่วยส่งอาหารเข้าสู่ทางเดินอาหารส่วนถัดไป