คอหอยและหลอดอาหาร

         คอหอย (pharynx) หรือช่องคอ เป็นส่วนต้นของทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ มีขอบเขตอยู่ด้านหลังโพรงจมูก (nasal cavity) และปาก และอยู่ด้านบนหลอดอาหาร (esophagus) กล่องเสียง (larynx)และหลอดลม (trachea) ด้านหลังของเพดานแข็ง (hard palate) เรียกว่า เพดานอ่อน (soft palate) ทำหน้าที่ช่วยในการออกเสียง และปิดกั้นอาหารไม่ให้ย้อนขึ้นไปบริเวณจมูก ส่วนตรงกลางของเพดานอ่อนที่ยื่นอกมาเรียกว่า ลิ้นไก่ (uvula) ช่วยในการออกเสียง การกลืน และการหายใจ ถัดลงมาด้านล่างของบริเวณโคนลิ้นจะมีฝาปิดกล่องเสียง (epiglottis) ทำหน้าที่ปิดกั้นไม่ให้อาหารเข้าสู่หลอดลมขณกลือาหาร 

         การกลืน (swallowing หรือ deglutition) เป็นกระบวนการที่อาศัยการเคลื่อนไหวของลิ้น เพดาน และการกลั้นหายใจ ซึ่งการกลืนจะเริ่มขึ้นหลังจากอาหารถูกเคี้ยวและคลุกเคล้ากับน้ำลายแล้ว (หลังคลุกเคล้า
จะเรียกว่า ก้อนอาหาร หรือ bolus) โดยลิ้นจะดันไปด้านหลังของช่องปากลงสู่ช่องคอ สรุปขั้นตอนได้ดังนี้

        1. เพดานอ่อนและลิ้นไก่ถูกดันยกขึ้นไปปิดช่องโพรงจมูก เพื่อป้องกันการสำลัก

        2. ฝาปิดกล่องเสียงเคลื่อนที่มาด้านหลัง เพื่อปิดกล่องเสียง และป้องกันอาหารตกสู่หลอดลม

        3. กล่องเสียงยกตัวสูงขึ้น ทำให้รูเปิดบริเวณช่องคอมีขนาดใหญ่

        4. กล้ามเนื้อบริเวณคอหอยหดตัว เพื่อให้ bolus เคลื่อนเข้าสู่หลอดอาหาร

         หลอดอาหาร (esophagus) เป็นส่วนที่อยู่ต่อจากกล่องเสียง ไม่มีบทบาทในการย่อยและการดูดซึมเป็นท่อกล้ามเนื้อตั้งแต่คอหอยจนถึงกระเพาะอาหาร อยู่ด้านหลังกล่องเสียงและหลอดลม มีชั้นของกล้ามเนื้อเรียบ 2 ชั้น คือ ชั้นนอกเป็นกล้ามเนื้อตามยาว (longitudinal muscle) เรียงตัวตามความยาวของหลอดอาหาร และชั้นในเป็นกล้ามเนื้อวง (circular muscle) เรียงตัวเป็นวงรอบทางเดินอาหาร เมื่อ bolus เข้าสู่หลอดอาหารจะเกิดการหด (contraction) และการคลาย (relaxation) ของกล้ามเนื้อเรียบเป็นช่วง ๆ เรียกว่า peristalsis เพื่อบีบไล่ก้อนอาหารให้เคลื่อนที่เข้าสู่กระเพาะอาหาร