ลำไส้ใหญ่
ที่มา : https://my.clevelandclinic.org/health/body/24784-anus-function
ลำไส้ใหญ่ (large intestine) เป็นอวัยวะที่อยู่ในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ใหญ่ของคนมีความยาวประมาณ 1.5 เมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 6 เซนติเมตร ทำหน้าที่ดูดซึมน้ำ แร่ธาตุ วิตามิน รวมทั้งเกลือน้ำดีที่เหลือ ลำไส้ใหญ่ยังมีแบคทีเรียประจำถิ่น (normal flora) ช่วยหมักกากอาหาร ควบคุมภาวะให้เหมาะสม และป้องกันเชื้อจากภายนอก ลำไส้ใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
กระเปาะลำไส้ใหญ่ หรือ ซีกัม (Caecum) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนแรก ต่อจากลำไส้เล็กส่วนไอเลียม ทำหน้าที่รับกากอาหารจากลำไส้เล็ก ที่ซีกัมมีส่วนของไส้ติ่ง (Vermiform appendix) ยื่นออกมา
โคลอน (Colon) เป็นลำไส้ใหญ่ส่วนที่ยาวที่สุดประกอบด้วยลำไส้ใหญ่ขวา ลำไส้ใหญ่กลาง และลำไส้ใหญ่ซ้าย มีหน้าที่ดูดซึมน้ำและพวกวิตามินบี12 ที่แบคที่เรียในลำไส้ใหญ่สร้างขึ้น และขับกากอาหารเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ส่วนต่อไป
ไส้ตรง หรือ เรกทัม (Rectum) เมื่อกากอาหารเข้าสู่ไส้ตรงจะทำให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายขึ้น เพราะความดันในไส้ตรงเพิ่มขึ้นเป็นผลทำให้กล้ามเนื้อหูรูดที่ทวารหนักชั้นใน(internal anal sphincter) ซึ่งทำงานนอกอำนาจจิตใจเปิดออก แต่กล้ามเนื้อหูรูดที่ทวารหนักชั้นนอก(external anal sphincter) เปิดออกเมื่อร่างกายต้องการ ซึ่งจะทำให้เกิดการถ่ายอุจจาระออกทางทวารหนัก (Anus) ต่อไป
Escherichia coli เรียกย่อ ๆ ว่า E.coli เป็นหนึ่งในแบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ของมนุษย์ ได้รับสารอาหารจากกากอาหารที่เหลือ โดยจะทำหน้าที่ช่วยสังเคราะห์วิตามิน K วิตามิน B7, B9 และ B12 จากนั้น
วิตามินจะดูดซึมที่ลำไส้ไหญ่ นอกจากนี้การย่อยสารอาหารของแบคทีเรียบางชนิด ทำให้เกิดการสร้างแก๊ส hydrogen sulfide (H2S) หรือแก๊สไข่เน่า และ methanethiol (CH3SH) ซึ่งเมื่อขับออกมาจะเรียกว่า การผายลม (ตด)
ท้องเสีย (diarrhea) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย หรือไวรัสบางชนิดที่ผนังลำไส้ใหญ่ ซึ่งรบกวน
การดูดซึมน้ำและแร่ธาตุ ทำให้ดูดกลับได้น้อยกว่าปกติ ส่งผลให้ถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำ
ท้องผูก (constipation) เป็นอาการถ่ายอุจจาระสำบาก อุจจาระแข็ง เนื่องจากลำไส้ใหญ่มีการดูดซึม
น้ำมากเกินไป โดยวิธีลดอาการท้องผูกคือ รับประทานอาหารที่มีใยอาหาร (fiber) หากท้องผูกบ่อยๆ จะทำให้เป็นโรคริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) และมะเร็งลำไส้ได้