กระต่าย

         กระต่ายเป็นสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหาร กินพืชได้หลากหลายชนิด เราจึงไม่ค่อยพบกระต่ายตายเพราะอดอาหารในธรรมชาติ ระบบทางเดินอาหารของกระต่ายเป็นแบบกระเพาะเดี่ยว มีไส้ตัน(Caecum)ใหญ่ยาว มีความสามารถในการย่อยอาหารพวกเยื่อใยได้ดี กระต่ายเป็นสัตว์ที่กินมูลตัวเองในเวลากลางคืน โดยหันมากินโดยตรงจากก้น หรือที่เราเรียกว่า อึพวงอุง่น  จึงสามารถนำเอามูลกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง หรือเรียกว่า Coprophagy การกินมูลตัวเองของกระต่าย ทำให้สามารถใช้ประโยชน์จากการย่อยอาหารได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 30-40%
      ระบบทางเดินอาหารของกระต่าย จัดอยู่ในประเภทเดียวกับม้า และหนู Guinea pig คือเป็นสัตว์กระเพาะเดี่ยวที่มีกระเพาะอาหารคล้ายกับของคนหรือสุนัข แต่มีส่วนไส้ตันและลำไส้ใหญ่ส่วนต้นขยายใหญ่และมีจุลินทรีย?อาศัยอยู่ ทำหน้าที่ช่วยย่อยหญ้าอาหารเยื่อใยคล้ายกับในกระเพาะหมักของสัตว์พวกโค กระบือ แพะ แกะ แต่ในสภาพโดยทั่วไประบบทางเดินอาหารของกระต่ายก็เช่นเดียวกับสัตว์ชนิดอื่น ๆ คือ มีลักษณะเป็นท่อยาว เริ่มต้นจากปาก หลอดอาหาร กระเพาะ ลำไส้เล็กไส้ตัน ลำไส้ใหญ่ไปจนถึงก้น โดยบางตอนจะขยายใหญ่กลางเป็นถุง และผนังด้านในบุด้วยเยื่อชุ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ท่อทางเดินอาหารถูกย่อยด้วยน้ำย่อยจากต่อมต่าง ๆ บางตอนก็มีต่อมสร้างน้ำย่อยอยู่ในผนังเอง บางตอนก็มีตุ่มยื่นออกมาเพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซึมอาหาร
      ระบบทางเดินอาหารของกระต่ายที่โตเต็มที่ จะมีความยาวทั้งหมด 4-5 เมตร และทำหน้าที่ทั้งการกิน การย่อยและดูดซึมอาหาร รวมทั้งขับถ่ายของเสียกากอาหารที่เหลืออกจากร่างกาย โดยระบบทางเดินอาหารแต่ละส่วนมีรายละเอียดและหน้าที่ดังต่อไปนี้

  1. ปาก (Mouth) เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการรับและบดอาหาร โดยอาศัยฟันและลิ้นเป็นตัวช่วยกัดเคี้ยว และคลุกเคล้าอาหารกับน้ำลาย โดยภายในช่องปากด้านในจะมีต่อมน้ำลายอยู่ 4 คู่ คือ ต่อมน้ำลายใต้หู ใต้ขากรรไกร ใต้ลิ้น และที่กระดูกแก้ม ต่อมน้ำลายจะหลั่งน้ำลายออกมาขณะกระต่ายกำลังกินอาหาร เพื่อช่วยคลุกเคล้าให้อาหารเปียกลื่นกลืนได้ง่าย โดยมีลิ้นเป็นตัวช่วยคลุกเคล้า ในน้ำลายของกระต่ายจะมีเอนไซม์อมัยเลส ซึ่งทำหน้าที่ย่อยแป้งให้เป็นน้ำตาล
  2. หลอดอาหาร (Esophagus) เป็นท่อยาวขนาดเล็กอยู่ด้านบนของหลอดลม ทำหน้าที่ให้อาหารผ่านจากปากเข้าสู่กระเพาะ โดยเป็นส่วนเชื่อมต่อระหว่างปากกับกระเพาะ และมีกล้ามเนื้ออยู่โดยรอบเพื่อทำหน้าที่บีบตัวไล่อาหารลงสู่กระเพาะ –> ผ่านลงสู่กระเพาะอาหาร ถูกย่อยด้วยน้ำย่อย(Enzymes)ที่มีความเป็นกรดสูงช่วยทำลายเชื้อโรคโดยธรรมชาติ
  3. กระเพาะ (Stomach) มีลักษณะเป็นถุงที่มีความจุอาหารได้ประมาณ 90-100 กรัม ตัวกระเพาะจะทอดขวางอยู่บริเวณส่วนต้นของช่องท้อง แต่ส่วนใหญ่จะกินเนื้อที่ทางด้านซ้ายของช่องท้อง กระเพาะแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนต้นซึ่งหลอดอาหารมาเปิดและมีขนาดใหญ่สุดเรียก Cardiac ส่วนกลาง (Fundus) จะมีลักษณะโค้ง ขยายใหญ่และส่วนท้าย (Pylorus) จะมีขนาดเล็กสุด โดยตอนปลายของกระเพาะส่วนท้ายจะมีช่องเปิดเข้าสู่ลำไส้เล็ก โดยบริเวณช่องเปิดนี้จะมีกล้ามเนื้อหูรูดที่แข็งแรง ทำหน้าที่ควบคุมการไหลผ่านของอาหารเข้าสู่ลำไส้เล็กต่อไป

–> ผ่านออกจากกระเพาะเข้าสู่ลำไส้เล็ก เป็นตำแหน่งที่มีการดูดซึมสารอาหารเข้าสู่เส้นเลือด

  4. ลำไส้เล็ก (Small intestine) เป็นท่อขนาดเล็กและยาวมาก โดยในกระต่ายที่โตเต็มที่จะมีความยาวประมาณ 3 เมตร และเส้นผ่าศูนย์กลางโดยเฉลี่ยประมาณ 1 ซม. ลำไส้เล็กต่อจากส่วนกระเพาะขดไปมาอยู่ในช่องท้อง และเป็นอวัยวะส่วนสำคัญในการทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหารไปเลี้ยงร่างกาย โดยผนังด้านในของลำไส้เล็กโดยเฉพาะส่วนกลางและส่วนปลายจะมีตุ่มเล็ก ๆ ยื่นออกมาจากลำไส้คล้ายนิ้วมือ เรียกว่า (Villi) เพื่อเพิ่มพื้นที่ในการดูดซึมอาหาร
      4.1 ลำไส้เล็กส่วนต้น (Duodenum) มีลักษณะการวางตัวขดเป็นท่อโค้งคล้ายห่วง ยาวประมาณ 12 ซม. และมีตับอ่อนซึ่งมีลักษณะเป็นแผ่นเยื่อไขมันสีเหลืองอ่อนขึงติดอยู่ ตับอ่อนจะทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยจากตับอ่อน ส่งผ่านเข้าไปในลำไส้เล็กส่วนต้น นอกจากนี้บริเวณนี้ยังมีช่องเปิดของท่อน้ำดีซึ่งนำน้ำดีที่สร้างจากตับและเก็บไว้ในถุงน้ำดีมาเปิดเข้าด้วย
      4.2 ลำไส้เล็กส่วนกลาง (Jejunum) เป็นลำไส้เล็กส่วนที่ยาวที่สุด มีลักษณะเป็นท่อยาวผนังภายในหนา และมีตุ่ม Villi อยู่มาก รวมทั้งมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงมาก
      4.3 ลำไส้เล็กส่วนปลาย (Ileum) เป็นลำไส้เล็กส่วนสุดท้าย มีลักษณะเป็นท่อยาว ผนังภายในบาง มีสีคล้ำกว่า และมีเส้นเลือดมาหล่อเลี้ยงน้อยกว่าในลำไส้เล็กส่วนกลาง แต่ลำไส้เล็กส่วนท้ายสุดจะขยายใหญ่ออกเป็นถุงกลม และมีผนังหนาเรียกว่า Sacculus rotundus พื้นผิวด้านในมีต่อมน้ำเหลืองอยู่มาก ซึ่งเข้าใจว่ามีหน้าที่ในการดูดซึมไขมัน และคอยทำลายจุลินทรีย์บางชนิด
      5. ไส้ตันและไส้ติ่ง (Caecum และ Appendix) ไส้ตันเป็นอวัยวะส่วนที่ต่อจากลำไส้เล็กบริเวณรอยต่อระหว่างลำไส้เล็กส่วนปลายกับลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ทำหน้าที่ย่อยอาหารพวกเยื่อใย โดยมีจุลินทรีย์ช่วยย่อย ไส้ตันจะมีลักษณะเป็นหลอดขนาดใหญ่ โค้งเป็นวง มีรอยคอดเป็นระยะ ไส้ตันยาวประมาณ 40-45 ซม. และเส้นผ่าศูนย์กลางโดยเฉลี่ยประมาณ 3-4 ซม. สามารถบรรจุอาหารเยื่อใยได้ประมาณ 100-120 กรัม ไส้ตันมีผนังบางและส่วนปลายของไส้ตันต่อด้วยไส้ติ่งซึ่งมีลักษณะเป็นถุงหรือท่อตัน ขนาดเรียวเล็กความยาวประมาณ 13 ซม. ภายในไส้ตันจะมีเมือกข้นและมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่เป็นจำนวนมากเพื่อทำหน้าที่ช่วยย่อยเยื่อใย ส่วนภายในไส้ติ่งจะมีต่อมน้ำเหลืองอยู่

–>หลังจากนี้เส้นใยอาหารจะถูกแบ่งเป็นสองส่วน คือไฟเบอร์ที่มีขนาดโมเลกุลใหญ่ (Indigestible fibre) จะไม่สามารถหลุดเข้าไปในCaecumได้ จะถูกปั้นก้อนอัดเป็นเม็ดที่ลำไส้ใหญ่ และอึออกมาเป็นเม็ดที่เราพบได้เป็นปกติ
      6. ลำไส้ใหญ่ (Large intestine) ทำหน้าที่หลักคือ ดูดซึมน้ำออกจากกากอาหารและมีขบวนการย่อย และดูดซึมอาหารที่เหลือตกค้างต่อเนื่องมาบ้างนิดหน่อย ลำไส้ใหญ่ของกระต่ายยาวทั้งหมดประมาณ 1.5 เมตร และแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ

       6.1 ลำไส้ใหญ่ส่วนต้น ( Colon ) เป็นส่วนที่ต่อจากไส้ตันแต่รอยต่ออยู่ใกล้กับปลายเปิดของลำไส้เล็กส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ส่วนต้นยังแบ่งออกได้เป็น 2 ส่วนคือ ส่วนแรกมีลักษณะเป็นถุงขยายใหญ่ และพื้นผิวภายนอกมีรอยขวั้นหรือรอยหยักมากมาย ยาวประมาณ 50 ซม. และส่วนที่สองมีขนาดเล็กกว่าและพื้นผิวภายนอกเรียบ ยาวประมาณ 90 ซม.

  6.2 ลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย (Rectum) เป็นท่อขนาดเล็กยาวประมาณ 4-5 ซม. และท้ายสุดของ Rectum ต่อด้วยช่องทวารหนักซึ่งเป็นทางผ่านออกของกากอาหารที่เหลือจากการย่อยและดูดซึมไปใช้ประโยชน์แล้ว

–> ส่วนเส้นใยอาหารที่มีขนาดเล็ก (Digestible fibre)จะหลุดเข้าไปในCaecum และ เกิดขบวนการหมักและย่อยโดยจุลชีพที่อยู่ในcaecum หลังจากหมักเสร็จแล้วจะได้ก้อนอาหารที่อุดมไปด้วยสารอาหารและจุลชีพดีๆ จะถูกส่งกลับเข้าไปเคลือบเมือก(ที่เราเห็นอึพวงองุ่นมีลักษณะเงามันเกิดจากการเคลือบเมือกเพื่อเพื่อป้องกันกรดในกระเพาะอาหารมาทำลาย เวลาที่กระต่ายกินกลับเข้าไป) และขับเป็นก้อนอึพวงองุ่นออกมาทางก้น กระต่ายจะหันกลับมากินก้อนอึพวงองุ่นนั้นจากก้นโดยตรง และกลับเข้าไปสู่ขบวนการดูดซึมสารอาหารโดยลำไส้เล็กอีกครั้ง

       7. อวัยวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบย่อยอาหารของกระต่าย
      7.1 ตับ (Liver) ถือว่าเป็นต่อมที่ใหญ่ที่สุดในร่างกายกระต่าย อยู่ติดกับกระเพาะอาหารทางด้านบน ตับแบ่งออกเป็น 5 พู พูด้านขวาจะมีถุงน้ำดีซึ่งมีลักษณะเป็นถุงรียาว สีเขียวเกาะติดอยู่ ตับช่วยย่อยอาหารโดยการกลั่นสร้างน้ำดี แล้วส่งไปเก็บไว้ที่ถุงน้ำดี เพื่อปล่อยเข้าไปบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ไปช่วยทำให้ไขมันแตกตัวเป็นโมเลกุลเล็กลง นอกจากนั้นตับยังทำหน้าที่เปลี่ยนกรดไขมัน รวมทั้งน้ำตาลรูปอื่นที่ถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดผ่านมายังตับให้เปลี่ยนเป็นน้ำตาลกลูโคส ก่อนส่งออกกลับเข้ากระแสเลือดให้ร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป ถ้าน้ำตาลในกระแสเลือดมีสูงเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนเป็นแป้งไกลโคเจนเก็บสะสมไว้ที่ตับ เหลือจากนั้นจะเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายต่อไป นอกจากนี้ตับยังทำหน้าที่เป็นโรงกรองของเสียหรือสารพิษที่ติดมากับอาหารที่สำคัญให้กับร่างกายด้วย

       7.2 ตับอ่อน (Pancreas) เป็นต่อมที่มีลักษณะเป็นแผ่นเนื้อเยื่อไขมันสีเหลืองอ่อน ซึ่งเกาะอยู่ระหว่างส่วนนอกของลำไส้เล็กส่วนต้น ตับอ่อนจะทำหน้าที่สร้างน้ำย่อยจากตับอ่อน ซึ่งประกอบด้วนเอนไซม์ที่ทำหน้าที่ย่อยโปรตีน คาร์โบไฮเดรท และไขมัน และส่งเข้าไปตรงบริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น
      7.3 ม้าม (Spleen) เป็นอวัยวะที่มีลักษณะแบนยาวสีแดงเข้ม พาดยึดติดกับกระเพาะอาหารด้านนอกด้วยเยื่อบาง ๆ ม้ามทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดโลหิตขาว และเป็นที่เก็บสะสมเม็ดโลหิตที่เสีย