เมตาบอลิซึม (Metabolism) คือ กระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติหรือสามารถรักษาภาวะต่าง ๆ ภายในร่างกายให้คงที่ (Homeostasis) กระบวนดังกล่าวประกอบด้วยการย่อยสารอาหารจากอาหารและเครื่องดื่มที่บริโภคเข้าไป และการเสริมสร้างและซ่อมแซมส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย กระบวนการเมตาบอลิซึมจะเปลี่ยนอาหารและเครื่องดื่มที่รับเข้าไปให้กลายเป็นพลังงาน เพื่อนำไปใช้ทำสิ่งต่าง ๆ เช่น หายใจ ไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงอวัยวะ ควบคุมอุณหภูมิร่างกาย ช่วยไม่ให้กล้ามเนื้อหดเกร็ง ย่อยอาหาร ขับของเสียออกมาในรูปปัสสาวะหรืออุจจาระ รวมทั้งทำให้สมองและเส้นประสาททำงานได้
กระบวนการทางเคมีของเมตาบอลิซึมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ กระบวนการสลาย และกระบวนการสร้าง โดยร่างกายจะจัดระบบการทำงานของกระบวนการทั้ง 2 ส่วนนี้ให้เกิดความสมดุลในด้านต่าง ๆ แก่ร่างกาย กระบวนการทางเคมีทั้ง 2 ส่วนมีรายละเอียดการทำงาน ดังนี้
กระบวนการสลาย (Catabolism) คือ กระบวนการทางเคมีที่สลายส่วนประกอบหรือสารอาหารของอาหารหรือเครื่องดื่มที่บริโภคเข้าไป เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน โดยจะสลายสารอาหารดังกล่าวให้อยู่ในรูปพลังงานที่พร้อมนำไปใช้เสริมสร้างการเจริญเติบโต หรือซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของร่างกาย
กระบวนการสร้าง (Anabolism) คือ กระบวนการทางเคมีที่สร้างหรือซ่อมแซมอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกาย โดยกระบวนการนี้ต้องนำพลังงานที่ได้จากการบริโภคอาหารหรือเครื่องดื่มมาใช้ หากได้รับพลังงานที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันมากเกินไป ร่างกายจะนำสารอาหารส่วนเกินมาเก็บสะสมในรูปของไขมัน
นอกจากนี้ ร่างกายจะมีอัตราการเผาผลาญ (Metabolic Rate) หรือพลังงานที่ใช้ไปมากน้อยเท่าไหร่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 อย่าง ได้แก่ อัตราความต้องการเผาผลาญของร่างกาย พลังงานที่ใช้ระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ และพลังงานที่ใช้ย่อยอาหาร